ThaiSook I 2566
การรับประทานอาหารในชีวิตประจำของคนเรามักจะมีประกอบไปด้วย อาหารประเภทแป้งและโปรตีน เมื่อเรารับประทานอาหารเหล่านี้เป็นจำนวนมากจะทำให้ปริมาณพลังงานที่ได้รับมากเกินความต้องการของร่างกาย ร่างกายจะเริ่มสะสมอาหารเหล่านี้ในรูปของไขมัน ยิ่งเกิดการสะสมเป็นเวลานานอาจจะกลายเป็นโรคอ้วนได้
การควบคุมปริมาณพลังงานที่บริโภคเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของร่างกาย เพื่อไม่ให้มีการสะสมไขมันเกิดขึ้นเยอะเกินจนเป็นโรคอ้วน ดังนั้น การควบคุมน้ำหนักและป้องกันโรคอ้วนก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่ง เนื่องจากโรคนี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอื่นๆ ได้ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของร่างกายได้
โรคอ้วนมักจะมีสาเหตุมาจาก
สภาพพันธุกรรม
- กรรมพันธุ์จะเห็นได้ว่าบางครอบครัวมีสมาชิกที่มีน้ำหนักเกินมากทั้งหมด ซึ่งส่วนหนึ่งนี้มีการเกิดขึ้นจากพันธุกรรม หรือถ้ามีคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคอ้วน อาจจะทำให้มีความเสี่ยงที่สูงในการเป็นโรคอ้วนด้วย เช่น คนที่ขาด leptin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งสัญญาณไปยังสมอง เพื่อทำให้รับประทานอาหารลดลง แต่ส่วนหนึ่งอาจมีผลมาจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารและรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน
พฤติกรรมทางสุขภาพ
- การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำอาจทำให้น้ำหนักเกิน และเป็นสาเหตุที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันและแป้งสูง ซึ่งมักพบในอาหารจานด่วน รวมถึงผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีความหวานไม่ว่าจะเป็นกลูโคส sugars, fructose,น้ำหวาน เครื่องดื่ม ไวน์ เบียร์ อาหารเหล่านี้จะดูดซึมอย่างรวดเร็ว และทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลินเป็นปริมาณมาก ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคอ้วน
- ชีวิตที่มีความสบาย ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดประเภท และไม่จำกัดปริมาณเหล่านี้ทำให้เกิดโรคอ้วน เมื่ออ้วนก็ทำให้ออกกำลังได้ไม่เต็มที่ พบว่าวัยรุ่นหรือเด็กที่มีน้ำหนักเกินมักจะเกิดโรคอ้วนเมื่อเป็นผู้ใหญ่ น้ำหนักของผู้ชายจะเพิ่มจนคงที่เมื่ออายุประมาณ 50 ปี ส่วนผู้หญิงน้ำหนักจะเพิ่มจนอายุประมาณ 70 ปี
โรคทางการแพทย์
- บางครั้งโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารหรือโรคต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยจะมีน้ำหนักเกินเนื่องจากร่างกายเผาผลาญอาหารน้อยลง โรค cushing ร่างกายสร้างฮอร์โมน cortisol มากทำให้ร่างกายมีการสะสมไขมัน ฮอร์โมนนี้อาจจะมาจากร่างกายสร้างเอง หรือจากลูกกลอน ยาแก้หอบ ยาชุด หรือร่างกายสร้างขึ้นเนื่องจากเนื้องอกต่อมหมวกไต รวมถึงอ้วนจากการกินยา ยาบางชนิดทำให้ความอยากอาหารเพิ่ม เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้โรคซึมเศร้า tricyclic antidepressant phenothiazine ยาลดความดัน เป็นต้น
ปัจจัยจิตวิทยา:
- ความผิดปกติทางจิตใจ หรือสภาวะทางจิตใจทำให้รับประทานอาหารมากจนเกินไป เช่น เศร้า เครียด ทำให้ต้องรับประทานอาหารเพื่อสร้างความพึงพอใจหรือลดความเครียดในบางครั้งอาจจะไม่รู้ตัวว่ารับประทานมากเกินไป
สภาพแวดล้อม:
- สภาพแวดล้อมในที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัยที่ไม่ส่งเสริมการเคลื่อนไหว และการดำเนินชีวิตอย่างสบาย มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย และขาดการออกกำลังกาย เช่น มีรถยนต์ มีเครื่องทุ่นแรง มีทีวีรายการดีๆให้ดู มีสื่อโฆษณาอาหารที่หน้ากินที่ทำให้เราอยากซื้อตาม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงโรคอ้วนได้เช่นกัน
อ้างอิง
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2555). สาเหตุจากโรคอ้วน. สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/?p=231896
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2564). โรคอ้วน ประตูสู่โรคร้าย. สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/?p=230545
ThaiSook I 2566