สุขภาพดีได้ด้วยกิจกรรมทางกาย

ThaiSook I 2565

กิจกรรมทางกาย (Physical Activity) หมายถึง การขยับเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดในชีวิตประจำวันของเรา และวิธีที่การเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ และการเผาผลาญพลังงาน รวมไปถึงทำงานด้วย เช่น การทำงานบ้าน ทำสวน ทำไร่ เป็นต้น และการเดินทาง เช่น การเดิน ปั่นจักรยาน เป็นต้น

กิจกรรมทางทางกายแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามการเคลื่อนไหว

  • ระดับเบา (Light Intensity)

การเคลื่อนไหวที่น้อยในการออกแรงเน้นกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยน้อยเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น การยืน การเดินระยะทางสั้นๆ การทำงานบ้าน ปลูกต้นไม้ เป็นต้น

การเดินระยะทางสั้นๆ
ทำงานบ้าน
ปลูกต้นไม้

  • ระดับปานกลาง (Moderate Intensity)

กิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยปานกลาง เช่น การเดินเร็ว ปั่นจักรยาน โยคะ พิลาทิส เป็นต้น โดยระหว่างที่ทำกิจกรรมสามารถพูดเป็นประโยคได้ มีเหงื่อซึม ๆ หรือหากวัดอัตราการเต้นหัวใจจะมีระดับชีพจรอยู่ระหว่าง 120-150 ครั้ง/นาที

โยคะ
พิลาทิส
ปั่นจักรยาน
  • ระดับหนัก (Vigorous Intensity)

การเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยมาก ทำกิจกรรมซ้ำอย่างต่อเนื่องด้วยการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การวิ่ง การเดินขึ้นบันได การออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกาย การเล่นกีฬา โดย ระหว่างทำกิจกรรมไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้ รู้สึกหอบเหนื่อย หรือหากวัดอัตราการเต้นหัวใจจะมีระดับชีพจร 150 ครั้งต่อนาที

วิดพื้น
ยกน้ำหนัก
ตีเทนนิส

ประโยชน์จากการมีกิจกรรมทางกาย

  1. สร้างเสริมความแข็งแรงของระบบการไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ กล้ามเนื้อ กระดูก รวมถึงความยืดหยุ่นของร่างกาย
  2. ลดโอกาสการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ
  3. มีความกระตือรือร้น ลดความเครียดและภาวะซึมเศร้า
  4. ลดภาระค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลลดการขาด/ลางาน
  5. ช่วยลดอัตราการเสี่ยงต่อการหกล้ม และช่วยเสริมสร้างความจำเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรงและมีคุณค่าต่อไป

การออกกำลังกายอย่างปลอดภัย

               แต่ละคนควรเลือกการออกกำลังกายที่ตนเองชอบและสะดวก อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ควรปรึษาแพทย์ก่อนเลือกวิธีออกกำลังกาย นอกจากนี้ ช่วงเริ่มต้นของการออกกำลังกายไม่ควรควรหักโหมเกินไป และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่เป็นครั้งคราว

ในระหว่างการออกกำลังกาย สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตอาการของตัวเราในขณะออกกำลังกายด้วย และหยุดทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้

เจ็บหน้าอกเหมือนถูกกดทับอย่างรุนแรง เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจลำบาก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และเสียการทรงตัว หากพักแล้วยังมีอาการเหล่านี้อยู่ แนะนำให้ไปพบแพทย์

อ้างอิง

ขยับเท่ากับสุขภาพ กรมอานามัย. (2562). กิจกรรมทางกาย. สืบค้นจาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/wp-content/uploads/2019/07/HP-eBook_01_Mini02.pdf

ThaiSook I 2565