ThaiSook I 2566
สารพฤกษเคมีในผลไม้
สารพฤกษเคมี (Phytochemicals) เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่พบในพืช ทำให้พืชผักและผลไม้มีสี กลิ่นและรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สารพฤกษเคมีที่พบในผลไม้ ได้แก่ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ไลโคพีน คลอโรฟิลล์ แอนโทไซยานิน เป็นต้น กลุ่มผลไม้ 5 สี มีสารพฤกษเคมีที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้แตกต่างกันไป ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ผลไม้สีแดง/ชมพูอมม่วง
มีสารไลโคปีน (lycopene) และบีทาเลน (betalain) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง และทำให้หัวใจแข็งแรง พบได้ใน แตงโม มะเขือเทศ แก้วมังกรเนื้อชมพู หัวบีท ตะขบ สตรอว์เบอร์รี ฝรั่งและมะละกอเนื้อสีแดง
ผลไม้สีน้ำเงิน/ม่วง
มีสารแอนโทไซยานิน (antocyanin) และกลุ่มโพลิฟีนอล (polyphenol) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็งและการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือด ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ผลไม้ในกลุ่มนี้ได้แก่ องุ่นแดง องุ่นม่วง ชมพู่มะเหมี่ยว ลูกหว้า ลูกไหน และลูกพรุน
ผลไม้สีเขียว
นอกจากมีสารคลอโรฟิลล์แล้ว ยังมีสารลูทีน (lutin) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคมะเร็งและลดการเสื่อมของจอประสาทตา ผลไม้ในกลุ่มนี้ได้แก่ ฝรั่ง อะโวคาโด พุทรา น้อยหน่า แตงไทย องุ่นเขียว ชมพู่เขียว แอปเปิลเขียวและมะกอกน้ำ
ผลไม้สีขาว/สีน้ำตาล
มีสารฟลาโวนอยด์หลายชนิด ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดข้อเข่า พบมากในเนื้อและเปลือกมังคุด ฝรั่ง แอปเปิล แก้วมังกรเนื้อขาว และผลไม้อื่นๆ เช่น กล้วย ลางสาด ลองกอง เงาะ ลิ้นจี่
ผลไม้สีเหลือง/สีส้ม
มีสารเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยต้านการอักเสบ และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันพบมากใน มะม่วงสุก มะละกอสุก กล้วย แคนตาลูปสีเหลือง สับปะรด เป็นต้น
การจัดกลุ่มผลไม้ตามที่จะทำให้ง่ายต่อการเลือกกินและจะได้รับสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์อย่างหลากหลาย มีข้อแนะนำให้พยายามกินผลไม้ครบทุกสีในแต่ละวัน แต่ทั้งนี้ต้องให้เหมาะสมกับฤดูกาลด้วย เพราะจะทำให้ได้ผลไม้ที่สดและราคาไม่แพง
อ้างอิง
- กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2023). คุณค่าทางโภชนาการในผลไม้. สืบค้นจาก https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/thai-food-composition-table/download?id=39843&mid=31993&mkey=m_document&lang=th&did=13913
ThaiSook I 2566