การรับประทานไขมันมากเกินไปโดยเฉพาะไขมันที่อิ่มตัวอาจทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้นได้ ระดับคอเลสเตอรอลสูงสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง หรือโรคอื่นๆ ได้ การลดปริมาณไขมันในอาหารอาจเป็นวิธีที่ดีในการลดความเสี่ยงดังกล่าว และควรเลือกประเภทของไขมันที่ดีต่อร่างกาย
ไขมัน เรียกอีกอย่างว่า กรดไขมัน ไขมันเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายของเรา เมื่อมีการย่อยและดูดซึมไขมันในร่างกาย ไขมันจะกลายเป็นพลังงานที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำในแต่ละวัน เช่น เดิน วิ่ง และกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้พลังงาน ไขมันในร่างกายของเราประกอบด้วยสามโมเลกุลที่เชื่อมต่อกัน โดยโครงสร้างของสามโมเลกุลนี้เรียกว่า “ไตรกลีเซอไรด์”
ไขมันส่วนใหญ่ที่เราต้องการนั้นจะมีการสร้างจากร่างกายของเรา แต่ก็มีไขมันบางชนิดที่ร่างกายเราไม่สามารถสร้างได้ แต่สามารถได้รับจากการรับประทานอาหาร ซึ่งเรียกว่าไขมัน “จำเป็น” ไขมันจำเป็นที่เราต้องได้รับจากอาหาร ได้แก่ ไขมันโอเมก้า 3 (พบในอาหาร เช่น ปลาและเมล็ดแฟลกซ์) และไขมันโอเมก้า 6 (พบในอาหาร เช่น ถั่ว เมล็ดพืช และน้ำมันข้าวโพด)
ไขมันในอาหารมี 3 ประเภทหลัก:
- ไขมันไม่อิ่มตัว พบได้ในน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก,น้ำมันรำข้าว, น้ำมันงา, น้ำมันถั่วเหลือง,น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น อะโวคาโด, ปลาแซลมอน, ปลาทูน่า และธัญพืชต่างๆ
- ไขมันอิ่มตัว พบมากในอาหารจำพวกไขมันจากสัตว์ ,น้ำมันพืชบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาร์ม และผลิตภัณฑ์จากเนย นม
- ไขมันทรานส์ พบได้ในเนยขาว ครีมเทียม มาร์การีน ในเบเกอรีต่างๆ เช่น เค้ก คุกกี้ โดนัท เป็นต้น
ทำไมไขมันถึงสำคัญ? การได้รับไขมันเพียงพอจากอาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไขมันทุกชนิดให้พลังงานสูง เปรียบเทียบจาก ไขมัน1 กรัม ไม่ว่าจะเป็นไขมันอิ่มตัวหรือไม่อิ่มตัว จะให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี (37 กิโลจูล) เมื่อเทียบกับคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน 1 กรัม จะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี (17 กิโลจูล) และการรับประทานไขมันไม่ควรทานน้อยจนเกินไป เนื่องจากร่างกายของเรายังต้องการไขมันเพราะ
- ไขมันช่วยดูดซึมวิตามิน เช่น วิตามิน A, D, E และ K ซึ่งวิตามินเหล่านี้ละลายได้ในไขมัน ซึ่งหมายความว่าสามารถดูดซึมได้โดยใช้ไขมันเท่านั้น
- ไขมันทำให้ผิวของเราแข็งแรง
- ไขมันที่จำเป็น เช่น โอเมก้า 3 มีความสำคัญต่อสุขภาพของหัวใจ
- ไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ไขมันไม่อิ่มตัวจากน้ำมันพืช สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL
- ไขมันช่วยเพิ่มรสชาติให้กับอาหาร
- ไขมันช่วยให้คุณรู้สึกอิ่มนานขึ้นหลังทานอาหาร
ดังนั้น การรับประทานไขมันให้เพียงพอและในปริมาณที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ร่างกายทำงานอย่างเหมาะสมและรักษาสุขภาพให้ดีอีกด้วย
อ้างอิง
- กรมอนามัย (2566). กรดไขมันและคอเลสเตอรอลในอาหารไทย สืบค้นจาก https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/thai-food-composition-table
- healtheuniversity. (2014). What Are Fats?. สืบค้นจาก https://www.healtheuniversity.ca/EN/CardiacCollege/Eating/Fats/
ThaiSook