หลายคนอาจจะเข้าใจว่า “สุขภาพที่ดี” หมายถึงแค่การกินดี นอนพอ หรือออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความคิด และอารมณ์ ก็มีผลต่อสุขภาพไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในการ เริ่มต้น และ รักษาวินัยการออกกำลังกาย หนึ่งในแนวคิดที่สามารถช่วยให้เราเข้าใจ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้ได้คือ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) หรือ “การบำบัดด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม”
CBT คืออะไร?
CBT (Cognitive Behavioral Therapy) คือวิธีบำบัดที่เน้นการเข้าใจว่า “ความคิด (Cognition)” ของเรามีผลต่อ “อารมณ์” และ “พฤติกรรม” อย่างไร โดยหากเราสามารถเปลี่ยนความคิดในแง่ลบ หรือความเชื่อที่ขัดขวางตัวเองได้ พฤติกรรมก็จะเปลี่ยนตาม
ตัวอย่าง:
ความคิด = “ฉันไม่เก่งกีฬาเลย ทำไปก็เท่านั้น”
→ อารมณ์ = ท้อแท้ ขาดแรงจูงใจ
→ พฤติกรรม = หยุดออกกำลังกาย
การใช้เทคนิค CBT เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย
1. ระบุ “ความคิดอัตโนมัติ” ที่ขัดขวางการออกกำลังกาย เช่น ฉันไม่มีเวลา, ออกไปก็เหนื่อยเปล่า, เดี๋ยวค่อยเริ่มพรุ่งนี้ ให้ลองจดบันทึกความคิดเหล่านี้ไว้ และสังเกตว่ามีการเกิดความคิดแบบนี้ซ้ำ ๆ หรือไม่
2. ตั้งคำถามกับความคิดนั้น (Cognitive Restructuring) เช่น มันจริงเสมอไปไหม?, คยมีครั้งไหนที่ฉันมีเวลาไหม?, ถ้าเพื่อนพูดแบบนี้กับตัวเอง ฉันจะตอบเขาว่ายังไง? การใช้เทคนิคนี้จะช่วยลด “เสียงในหัว” ที่ทำให้คุณเลิกพยาม
3. ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ทำได้จริง เริ่มจากง่าย ๆ เช่น เดิน 10 นาที หรือยืดกล้ามเนื้อ 5 นาที ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากยิม 2 ชม. เมื่อทำได้ → รู้สึกดี → เพิ่มความมั่นใจ
4. จับความรู้สึกหลังออกกำลังกาย หลังออกกำลังกายลองจดว่า “ตอนนี้รู้สึกอย่างไร?” ส่วนใหญ่จะพบว่า “รู้สึกสดชื่น โล่ง เบา” มากกว่าที่คิดไว้ก่อนทำ และใช้ความรู้สึกนี้เป็นแรงพลักดันในวันถัดไป
5. ใช้เทคนิค “พฤติกรรมเชิงบวก” ร่วมด้วย ตั้งรางวัลให้ตัวเองหลังออกกำลังกาย เปิดเพลงโปรดตอนออกกำลังกาย หรือไปออกกำลังกายกับเพื่อน
เทคนิค CBT ช่วยให้เราเข้าใจ “กับดักความคิด” ที่ทำให้เราเลิกออกกำลังกายกลางคัน และช่วยปรับทัศนคติใหม่ให้ “การออกกำลังกาย” เป็นเรื่องที่เป็นมิตรกับชีวิตมากขึ้น เมื่อใจพร้อม พฤติกรรมก็ตามมา สุขภาพโดยรวมก็จะดีขึ้นแบบยั่งยืน และลองนำเทคนิค CBT ทั้ง 5 ข้อข้างต้นไปใช้กันดูนะ เพื่อสุขภาพที่ดี ทั้งกาย และใจ
ThaiSook เพื่อคนไทยสุขภาพดี มีความสุข
อ้างอิง
โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ สืบค้นจาก ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ Cognitive Behavioral Therapy (CBT)
NHS (UK) สืบค้นจาก Cognitive Behavioural Therapy (CBT)
Verywell Mind สืบค้นจาก CBT Coping Strategies